Emo Comments For Hi5

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551

FTA ไทย-สหรัฐ กับการเข้าถึงยาและสาธารณสุขของไทย

วันนี้มีข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับ "ยา" มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน..คิดว่าเพื่อนๆคงจะได้ความรู้ทางด้านนี้ขึ้นมาบ้างนะคะ..

ในครั้งนี้ขอต่อประเด็นเรื่องต้นทุนที่ประเทศไทยต้องจ่ายในการทำ FTA กับสหรัฐ จากผลกระทบเรื่องการเข้าถึงยาและสาธารณสุข หลังจากในครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงโจทย์ FTA ในการปฏิรูปการเมืองภาคสอง

ข้อเรียกร้องของสหรัฐที่จะมีผลกระทบต่อเรื่องยาและสาธารณสุข ส่วนใหญ่อยู่ในหัวข้อการคุ้มครองสิทธิบัตร และมีบางส่วนเป็นผลมาจากการเปิดเสรีการบริการสาธารณสุข แต่ครั้งนี้ขอกล่าวถึงผลกระทบจากเรื่องสิทธิบัตรเท่านั้น

สาระข้อเรียกร้องของสหรัฐในเรื่องนี้ที่สำคัญๆ เช่น ให้ไทยคุ้มครองสิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาโรค และการผ่าตัด ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) ให้เป็นไปอย่างลำบากหรือไม่สามารถใช้ได้ ขอให้ขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าจากกระบวนการจดสิทธิบัตร 4 ปีนับจากวันยื่นคำขอ หรือ 2 ปีนับจากวันยื่นให้พิจารณาคำขอ ให้ขยายอายุสิทธิบัตรเพื่อชดเชยความล่าช้าจากการขึ้นทะเบียนตำรับยาทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในหัวข้อ "มาตรการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุม" คือ ให้มีการผูกขาดข้อมูลยาใหม่ 5 ปี ตามลำดับ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการขึ้นทะเบียนตำรับในไทยหรือต่างประเทศ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีการละเมิดสิทธิบัตร ( ผู้สนใจรายละเอียดข้อเรียกร้องที่สหรัฐยื่นให้ฝ่ายไทยเมื่อครั้งการเจรจารอบที่ 6 จ.เชียงใหม่หาอ่านได้จาก www.bilarterals.org )

ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นเรื่องทางเทคนิคอยู่ค่อนข้างมาก ไม่อาจอธิบายในเชิงวิชาการอย่างละเอียดได้ภายใต้เนื้อที่จำกัดนี้ จึงขอกล่าวโดยสรุปถึงผลกระทบว่าหากไทยต้องยอมรับตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างต่อคนไทยและประเทศไทย

ข้อแรก ทำให้การผูกขาดตลาดยาภายใต้ระบบสิทธิบัตรยาวนาน

ข้อสอง ผลกระทบต่อปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วย เนื่องจากประเทศไทยต้องยกระดับการคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้สูงขึ้นและนานขึ้น ในขณะที่ไม่สามารถใช้กลไกต่างๆ เช่น การนำเข้าซ้อน การบังคับใช้สิทธิ เพื่อการบรรเทา เยียวยาปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการให้สิทธิบัตรยาได้

ข้อสาม ผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทย สร้างอุปสรรคในการแข่งขันจากการข้อเรียกร้องเรื่องการผูกขาดข้อมูลยา การขึ้นทะเบียนตำรับยา ฯ

ข้อสี่ เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน เนื่องจากมีต้นทุนค่ายา และค่ารักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

จากงานศึกษาของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขของไทย ประเมินว่าค่าใช้จ่ายด้านยาที่จะเกิดขึ้น หากมีการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรหรือการผูกขาดทางการตลาดเป็นเวลาตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดทางการตลาดเพิ่ม 1 ปี เฉลี่ยระหว่าง 4.29 ถึง 43.95 ล้านบาทต่อยา 1 รายการ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 557.78 ถึง 3,607.61 ล้านบาทเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดฯออกไป 10 ปี หากคำนวณจากจำนวนรายการยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในระหว่างปี 2542 ถึงปี 2547 เฉลี่ยปีละ 60 รายการ จะพบว่าค่าใช้จ่ายด้านยาเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 257.24 ถึง 2,636.78 ล้านบาทเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดฯออกไป 1 ปี และเพิ่มเป็น 33,466.69 ถึง 216,456.53 ล้านบาทเมื่อขยายระยะเวลาการผูกขาดฯออกไป 10 ปี

มีข้อควรตระหนักด้วยว่า การศึกษานี้ยังไม่ได้ประเมินต้นทุนทั้งหมดตามข้อเรียกร้องของสหรัฐในเรื่องสิทธิบัตรยา

ถ้าประเทศไทยยังต้องการเดินหน้าต่อเพื่อเจรจาทำ FTA กับสหรัฐ ประเทศไทยก็มีต้นทุนมหาศาลที่ต้องจ่าย ต้องแลก ซึ่งรวมถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย
ขอขอบพระคุณแหล่งที่มา:Thai APEC Study Center : ---------------------------------------

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2114 18 พ.ค. - 20 พ.ค. 2549

ไม่มีความคิดเห็น: